ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๙๓

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๙๓…

…”กิเลสย่อมพอกพูนแก่ผู้ที่ชอบเพ่งโทษของผู้อื่น ให้ความสนใจในการเพ่งโทษของผู้อื่นเป็นนิตย์บุคคลผู้ประพฤติดังนั้นย่อมสิ้นอาสวะช้า”…

…” ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส นิจฺจํ
อุชฺฌานสญฺญิโน
อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺ
อารา โส อาสวกฺขยา “…
…พุทธสุภาษิต ธรรมบท ๒๕/๔๑…

…แด่นิยามความหมายคำว่า “ คน “ …
…คำว่า”คน” คือคลุกเคล้า ให้เข้ากัน
สารพัน สารพัด จะจัดหา
มาหล่อรวม ร่วมไว้ ในโลกา
นี่ละนา นี่ละหนา คำว่า”คน”

… โลกสับสน วุ่นวาย มาหลายยุค
ให้เกิดทุกข์ โทษภัย มาหลายหน
เพราะต่างคน ต่างเอา แต่ใจตน
ไร้เหตุผล จนต้อง ทะเลาะกัน

… เพราะทิฐิ อัตตา และมานะ
ไม่ยอมละ หันมา สมานฉันท์
ต่างยึดถือ ความเห็น เป็นสำคัญ
แตกแยกกัน ไปทั่ว ทุกมุมเมือง

…เพราะมุมมอง สองฝ่าย นั้นแตกต่าง
ไม่ละวาง วุ่นวาย ไปทุกเรื่อง
ถกเถียงกัน จนกลาย เป็นแค้นเคือง
ผลสืบเนื่อง จากอัตตา อุปาทาน

…เพราะคนเพียง รู้ธรรม แต่ไม่ทำ
เพียงแต่นำ มากล่าว และเล่าขาน
เพียงจำได้ หมายรู้ วิชาการ
จิตวิญญาณ นั้นขาด คุณธรรม

…ขาด”หิริ” ความอาย ในสิ่งชั่ว
ไม่เกรงกลัว “โอตับปะ” จึงถลำ
ให้ความโลภ นั้นมา เข้าครอบงำ
จึงตกต่ำ จากมนุษย์ มาเป็น”คน”

…”เป็นมนุษย์ เป็นได้ เพราะใจสูง
เหมือนนกยูง มีดี ที่แววขน
ถ้าใจต่ำ เป็นได้ แค่เพียงคน”
จึงสับสน วุ่นวาย ตลอดมา…

…แด่ความสับสน วุ่นวายและนิยามความหมายของคำว่า “ คน “ …

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๕…