ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๙๑

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๙๑…

…งานที่ใช้กำลัง ถ้าเราไม่ระวังสำรวมสติ จิตจะหยาบ…

…ในการทำงานที่ต้องใช้แรงงานนั้นมันย่อมมีผลต่อร่างกายและจิตใจซึ่งต้องใช้ความอดทนที่สูงมากถ้าขาดสติตามรู้ตามเห็นไม่ทันกิเลสนั้นจะแสดงออกมา (ความเอาแต่ใจตัวเอง ความเห็นแก่ตัว ความน้อยใจ ความเสียใจ ความมักง่ายความขี้เกียจ ความโกรธ) จะปรากฏขึ้นที่เป็นเช่นนั้นเพราะกิเลสมันถูกเผาให้เร้าร้อน มันถูกกระตุ้นด้วย ความเหนื่อย ความร้อน ความหิวกระหายความที่ไม่ได้ตามที่ใจปรารถนา

…การทำงานก็คือการสอบอารมณ์ของเรา เพราะเราต้องเผชิญกับความเป็นจริงและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นั้นมันคือชีวิตจริงสิ่งที่เราต้องประสพพบอยู่ทุกวันในการดำเนินชีวิตของเราขณะที่เรานั่งสมาธิภาวนานั้น มันไม่มีผัสสะของจริงมากระทบ เราอยู่กับความสงบ กิเลสมันถูกกดทับด้วยอารมณ์สมาธิ มันจึงมองไม่เห็นกิเลสและอาจจะหลงคิดไปว่าไม่มีกิเลสแล้ว

…อารมณ์ในสมาธินั้นมันเป็นโลกส่วนตัวของเราเฉพาะตัว แต่เมื่อเราออกจากอารมณ์สมาธิแล้ว กลับมาสู่ความเป็นจริงคือปัจจุบันธรรมสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งมันมีทั้งแรงดูดและแรงต้านให้เราคล้อยตามหรือปฏิเสธถ้าสติและสัมปชัญญะของเรานั้นมีกำลังอ่อน เราก็จะถูกกิเลสเข้าครอบงำคล้อยตามกิเลสที่เกิดขึ้น แต่ถ้ากำลังของสติสัมปชัญญะมีความสมบูรณ์เราจะรู้เท่าทันกิเลสนั้นและจะปฏิเสธไม่คล้อยตามมัน

…”ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต” เราต้องรู้จักตัวของเราเอง เพราะไม่มีใครจะรู้เหตุและผลของตัวเราเท่ากับตัวเราเองเราเองต้องเป็นผู้สอบอารมณ์ของตัวเราไม่ต้องให้ใครเขามาสอบอารมณ์ของตัวเรา “จงรู้จักกาย รู้จักจิต รู้จักความคิดและรู้ในสิ่งที่กระทำ” จิตของเราจึงจะไม่หลงทาง หลงตัวเอง หลงกิเลส

…การสอบอารมณ์ที่ดีที่สุดก็คือการทำงานที่ใช้กำลังแรงงานร่วมกับผู้อื่น เพราะเราจะได้เจอผัสสะ (สิ่งที่มากระทบ) ทั้งภายนอกและภายใน เราจะได้เห็นความหวั่นไหวและความสงบนิ่งของเราซึ่งมันคือของจริง คือสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่แล้วเราจะได้รู้ว่าการปฏิบัติธรรมของเรานั้น มันก้าวหน้าไปถึงไหน “รู้ได้ เมื่อภัยมา” “ปัญหาไม่มาปัญญาไม่มี บารมีไม่เกิด” ไม่ใช่นั่งคิดนั่งฝันว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้มันต้องมีของจริงมาพิสูจน์ มาทดสอบอารมณ์ของเรา…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๕…