ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๙๕

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๙๕…

…”น ปณฺฑิตา อตฺตสุขสฺส เหตุ
ปาปานิ กมฺมานิ สมาจรนฺติ”
“บัณฑิตไม่ประกอบกรรมชั่วเพราะเห็นแก่ความสุขส่วนตัว”…

…ระลึกถึงธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า เป็นเครื่องกระทำให้เป็นสมณะ…

๑. พึงศึกษาว่า เราทั้งหลายจักประกอบด้วย หิริ ความละอายต่อความชั่ว โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว

๒. พึงศึกษาว่า เราจักมีกายสมาจารคือความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์ ที่ตื้นที่เปิดเผย ไม่เป็นช่อง ประกอบด้วยความสำรวม ทั้งจะไม่ยกตนข่มท่านด้วยข้อนั้น

๓. พึงศึกษาว่า เราจักมี วจีสมาจา คือ ประพฤติทางวาจา ได้แก่คำพูดที่บริสุทธิ์

๔. พึงศึกษาว่า เราจักมี มโนสมาจาร คือ ความประพฤติทางใจ คือความคิดอันบริสุทธิ์

๕. พึงศึกษาว่า เราจักมี อาชีวะ คือ ความเลี้ยงชีพบริสุทธิ์

๖. พึงศึกษาว่า เราจักมีอินทรีย์สังวร ความสำรวมอินทรีย์ คือสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

๗. พึงศึกษาว่า เราจักมีความรู้ประมาณในการบริโภคอาหาร

๘. พึงศึกษาว่า เราจักประกอบธรรมของผู้ที่ตื่นอยู่ คือไม่เห็นแก่การหลับนอนมากนัก

๙. พึงศึกษาว่า เราจักประกอบสติคือความระลึกได้และสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อมในอิริยาบถใหญ่อิริยาบถน้อยทั้งหลาย

๑๐. พึงศึกษาว่า เราจักปฏิบัติคอยชำระจิตของตนออกจากนิวรณ์คือกิเลสเป็นเครื่องกั้นจิตทั้งหลาย

๑๑. พึงศึกษาว่า เราจักปฏิบัติทำสมาธิ คือความรวมจิต เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ซึ่งเป็นอารมณ์ของสมาธิจนถึงสมาธิขั้นสูง

๑๒. พึงศึกษาว่า เราจักปฏิบัติอบรมจิต ให้เกิดปัญญาญาณ คือปัญญาหยั่งรู้เข้าถึงสัจจะ คือความจริงขึ้นไปโดยลำดับ

…นี่คือธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนแก่พระภิกษุทั้งหลาย ว่าเป็นเครื่องกระทำให้เป็นสมณะ ซึ่งควรหมั่นคิดและพิจารณากาย วาจา จิต ของเราอยู่เสมอ เพื่อความเป็นสมณะในบวรพระพุทธศาสนา..

…ขอนอบน้อมแด่พระธรรมคำตรัสสอนของพระพุทธองค์…

…ยกข้อธรรม นำมา สาธยาย
สื่อความหมาย แห่งธรรม นำวิถี
ให้ใคร่ครวญ ทวนทบ พบสิ่งดี
บทกวี ชี้ทาง ห่างอบาย

…ทุกถ้อยคำ เน้นย้ำ เรื่องสติ
สมาธิ ตั้งมั่น รู้จุดหมาย
มีสติ คุ้มครอง รองรับกาย
เดินตามสาย เส้นทาง อย่างมั่นคง

…ดำรงตน อยู่ใน ศีลธรรม
ไม่ก่อกรรม ทำชั่ว ด้วยมัวหลง
ซึ่งกิเลส ตัณหา พาพะวง
ให้ต่ำลง สู่อบาย ตายทั้งเป็น

…ยกจิตสู่ กุศล เป็นผลดี
ฝึกให้มี หิริ ระลึกเห็น
โอตตัปปะ คุ้มครอง ให้ร่มเย็น
มองให้เห็น ดีชั่ว กลัวบาปกรรม

…ปลุกสำนึก ความคิด จิตมนุษย์
เป็นชาวพุทธ ไม่ควร จะใฝ่ต่ำ
จงอย่าให้ กิเลส มาครอบงำ
ศึกษาธรรม นำทาง สว่างใจ

…รู้จักความ พอดี เป็นที่ตั้ง
ควรระวัง ความโลภ อย่าหลงใหล
ให้อยู่ดี มีสุข ไม่ทุกข์ใจ
อย่าอยากได้ เกินไป ให้ทุกข์ทน

…เมื่อมีน้อย ใช้น้อย คอยประหยัด
เราควรจัด บริหาร ให้เกิดผล
อย่าใช้เกิน กำลัง ระวังตน
เกิดเป็นคน ไม่เป็นหนี้ จะดีเอย…

…ฝากไว้เป็นข้อคิดเพื่อเตือนจิตสะกิดใจ…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม…
…๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕…