บอกกล่าว เล่าเรื่อง บทที่ ๗

…บอกกล่าว เล่าเรื่อง บทที่ ๗…

…จากประสบการณ์ของชีวิตฆราวาสที่ผ่านมาอย่างโชกโชน ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสมาหมดแล้วทุกวงการทำให้โลกทัศน์ ชีวทัศน์และวิสัยทัศน์ของเรานั้นเปิดกว้าง รับรู้ในข้อมูลทุกอย่างและทุกเรื่อง จึงได้นำเอาประสบการณ์ที่มีอยู่นั้นมาสงเคราะห์อนุเคราะห์ช่วยเหลื่อผู้อื่น โดยใช้การสอดแทรกหลักธรรมการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและสอดคล้องกับวิถีลงไป

…การมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จิตอาสาและความเหมาะสมพอดีและพอเพียงในการหาเลี้ยงชีวิต ในการประกอบธุรกิจและในชีวิตครอบครัว ทุกอย่างนั้นจะดำเนินไปได้ด้วยดี ก็ต้องมีการปรับเข้าหากันของทุกฝ่าย เพื่อให้ทุกคนได้รับผลประโยชน์จากสิ่งนั้นตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลคือการรู้จักประมาณตน ประมาณกำลังและตั้งอยู่ในความพอดี สิ่งเหล่านี้คือแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตที่เป็นพื้นฐานนำเข้าสู่เส้นทางธรรมในอนาคตข้างหน้าต่อไป

…ทุกอย่างนั้นต้องขึ้นอยู่กับสภาพความเหมาะสมของแต่ละบุคคลส่งเสริมในสิ่งที่เขาชอบ อันประกอบด้วยกุศล ซึ่งมันจะได้ผลดีกว่าการที่ไปบังคับ ยัดเยียดให้เขาปฏิบัติตามความต้องการของเรา ส่งเสริมให้เขาทำในสิ่งที่เขาชอบ ในสิ่งที่ใช่ตัวตนของเขา แล้วเขานั้นจะมีความสุขมีความเพลิดเพลินที่ได้กระทำในสิ่งนั้นและผลงานนั้นมันก็จะออกมาดีเพราะว่ามีใจให้แก่สิ่งที่ได้ทำ เวลาแห่งการกระทำผิด เวลาแห่งจิตที่จะคิดอกุศล มันก็จะน้อยลงสั้นลงไปทุกขณะเพราะว่าจิตมีความเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งที่ทำ จนลืมคิดถึงสิ่งอื่นความเป็นสมาธิโดยธรรมชาติก็จะเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้นั้น เพราะว่าสมาธินั้นคือจิตที่จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน เป็นพื้นฐานที่จะยกจิตเข้าสู่การเจริญภาวนานั้นได้ง่าย หากรู้จักจะปรับใช้ โดยการเพิ่มกำลังของสติและองค์แห่งคุณธรรมเข้าไป ให้มีสติระลึกรู้ละอายและเกรงกลัวต่อบาปกรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลาย

…เป็นการปฏิบัติธรรมที่ได้กระทำไปโดยไม่รู้ตัวว่าได้ปฏิบัติอยู่ ในวิถีชีวิตประจำวัน เพราะว่าการปฏิบัติธรรมคือการเจริญสติ เจริญสัมปชัญญะในสภาวะแห่งปัจจุบันธรรม คนส่วนใหญ่นั้นมักจะถูกปลูกฝังให้ติดยึดในรูปแบบว่าการปฏิบัตินั้นมันเป็นเรื่องที่ทำได้ยากต้องมีเวลาว่าง ต้องไปวัดรับศีล ถือศีลนุ่งขาวห่มขาว ต้องไหว้พระสวดมนต์ต้องนั่งสมาธิ ต้องเดินจงกรม ต้องฟังธรรมจึงจะเป็นการปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดข้อจำกัดในการปฏิบัติ เพราะว่าไปติดยึดในรูปแบบ ในพยัญชนะ ในตัวอักษรไม่ได้สนใจในเนื้อหาอรรถธรรมว่ามันเป็นมาอย่างไร มันจึงเป็นการสอนอย่าง “เถรส่องบาตร” คือทำตามๆกันมาโดย ไม่รู้เนื้อหาและเจตนาที่เขาทำ ว่ามันมีที่มาอย่างไร ว่าทำไมเขาจึงทำแบบนั้น ซึ่งเป็นการกระทำโดยขาดปัญญา ขาดการพิจารณาวิเคราะห์ ใคร่ครวญและตริตรองไม่ได้มองให้เห็นซึ่งที่มาและที่ไปเหตุและปัจจัยของสิ่งเหล่านั้นมันจึงเป็นการกระทำที่งมงายเพราะไร้ซึ่งการคิดพิจารณาขาดปัญญาในการกระทำ…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕…