บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๑๐๐

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๑๐๐…

…สิ่งทั้งหลายรอบกายของเรานั้นล้วนสงเคราะห์เข้ากับธรรม หากเรานั้นได้นำมาคิดและพิจารณาถึงที่มาและที่ไปในสิ่งเหล่านั้นสงเคราะห์เข้าหาหลักธรรมโดยการพิจารณาให้เห็นถึงคุณถึงโทษ เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของธรรมชาติทั้งหลายนั้น รู้เห็นถึงสภาวะการเกิดดับของอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายของจิต โดยการมีสติและสัมปชัญญะควบคุมคุ้มครองจิตให้คิดพิจารณา

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๑๐๐”

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๙

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๙…

…การปรุงแต่งในปุญญาภิสังขารบางครั้งก็เป็นทุกข์ได้ เพราะว่าเกินความพอดีทำให้เกิดความฟุ้งซ่านได้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอดีและความเหมาะสม ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้เป็นทุกข์เป็นโทษได้ เพราะว่าเกินกำลังจึงต้องพยายามควบคุมความคิด ความอยากให้อยู่ในกรอบในกฎเกณฑ์ของความพอดีประคับประคองจิตไว้ให้เป็นกุศลจิตตลอดเวลา ทรงไว้ในอารมณ์ปีติกำหนดสติและสัมปชัญญะ พิจารณาธรรมตามดูตามรู้ตามเห็นในอารมณ์ที่เกิดขึ้นทำความรู้ตัวทั่วพร้อม โปร่ง โล่ง เบาสบาย ดำรงทรงไว้ซึ่งความเป็นกุศลจิตทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความเจริญในธรรม…

…แด่โพชฌงค์ ๗ องค์ปัญญาตรัสรู้และโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ที่เป็นสัมปยุตตธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔…

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๘

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๘…

…เรื่องศีลข้อวัตรและพระวินัยนั้นเป็นไปเพื่อการเจริญสติและสัมปชัญญะ โดยมีหิริและโอตตัปปะซึ่งเป็นองค์แห่งคุณธรรมนั้นควบคุมคุ้มครองอยู่เพราะการที่เราจะทรงไว้ซึ่งศีลและวินัยนั้นได้ เราจะต้องมีสติและสัมปชัญญะอยู่ทุกขณะจิตระลึกรู้ในทางกายและทางจิตในสิ่งที่คิดและในกิจที่ทำ

…การที่เราไม่ก้าวล่วงล้ำพระธรรมพระวินัย ศีลและข้อวัตรทั้งหลายนั้นเพราะเรามีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ต่ออกุศลกรรม การล่วงละเมิดทั้งหลาย ทำให้การรักษาศีลนั้น จึงเป็นการเจริญสติและสัมปชัญญะและเพิ่มกำลังขององค์แห่งคุณธรรมอยู่ทุกขณะจิตตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในหลักของการปฏิบัติเรื่องไตรสิกขาอันได้แก่ “ศีล สมาธิ ปัญญา” แต่เรามักกลับทำลัดขั้นตอนเพราะใจร้อน อยากจะเห็นผลของความสำเร็จนั้นโดยเร็วไวจึงไม่ค่อยจะใส่ใจในเรื่องของศีลไปเน้นหนักเรื่องจิตเรื่องการภาวนาให้เกิดสมาธิมากเกินไป จึงทำให้จิตสำนึกแห่งคุณธรรมนั้น มีกำลังไม่เพียงพอที่จะเข้าไปต่อสู้กับกิเลสตัณหาทั้งหลายได้

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๘”

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๗

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๗…

…พิจารณาทำความรู้ความเข้าใจในทุกสรรพสิ่ง ในความเป็นจริงของชีวิต คิดทุกอย่างปรัลเข้าหาหลักธรรม ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสพพบเห็นนั้น ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง เมื่อเข้าใจทุกอย่างก็จบ เพราะมันมีคำตอบอยู่ในตัวของมันเอง ไม่ต้องไปสงสัยไม่ต้องไปกังวล ไม่ต้องไปค้นหาเพราะว่า… ตถตา มันเป็นเช่นนั้นของมันเอง

…พยายามนึกคิดถึงสิ่งที่เป็นกุศลฝึกตนด้วยการเจริญสติ ตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔ อันมี เมตตา กรุณามุทิตา อุเบกขาเป็นหลักที่พักจิตปรับความคิดให้มองโลกในแง่ดีพิจารณาให้เห็นถึงคุณ ถึงโทษถึงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ในทุกๆสิ่ง เห็นความเป็นจริงของกฎแห่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นกฎของพระไตรลักษณ์ นั้นคือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๗”

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๖

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๖…

…คนเรานั้นต้องมีความหวัง มีเป้าหมายของชีวิต เราต้องหวังให้ไกลและเราต้องไปให้ถึง แม้ว่าหนทางนั้นยังอีกยาวไกล เพราะว่าความสำเร็จนั้นมิได้อยู่ที่จุดเริ่มต้นความผิดพลาดความล้มเหลว ความสูญเสีย มันมิใช่ข้อยุติ สิ่งเหล่านั้นล้วนแล้ว ล้วนนำมาซึ่งประสบการณ์ของชีวิต เป็นบทเรียนของชีวิต ที่จะทำให้เราเข้มแข็งและกล้าแกร่งยิ่งขึ้น

…ขอเพียงให้เรายึดมั่นในอุดมคติของเราอย่าได้หวั่นไหวและท้อถอยเพราะหนทางที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้น มันต้องฟันฝ่าเผชิญต่ออุปสรรคและปัญหาอยู่ตลอดเวลาอุปสรรคและปัญหาเหล่านั้นคือบทเรียน บททดสอบกำลังสติปัญญาและคุณธรรมของเรา

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๖”

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๕

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๕…

…ในความเคลื่อนไหว ขอให้ใจสงบนิ่ง…

…สรรพสิ่ง เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง
คือความจริง ที่เห็น และเป็นอยู่
ใช้สติ ใคร่ครวญ ทบทวนดู
ก็จะรู้ และเข้าใจ ในหลักธรรม

…มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ
เปลี่ยนสลับ กันไป เหมือนเช้า-ค่ำ
มีสีขาว ก็ย่อมมี ทั้งสีดำ
เพื่อเตือนย้ำ ความแตกต่าง สองอย่างกัน

…และเมื่อเรา วางใจ ไม่ยึดถือ
สิ่งนั้นคือ ของเรา เข้าถือมั่น
เมื่อใจว่าง ก็วางได้ โดยเร็วพลัน
สิ่งสำคัญ คือใจ เป็นประธาน

… เริ่มที่ใจ ที่จิต ต้องคิดก่อน
โดยการย้อน มองสิ่ง ที่พ้นผ่าน
เอาเป็นครู เรียนรู้ ประสพการ
นั่นคืองาน ของจิต ที่คิดทำ

…การทำดี ต้องเริ่มที่ การฝึกคิด
ฝึกทำจิต คิดดี หลายทีซ้ำ
คิดอะไร ก็ให้ดี มาชี้นำ
คือฝึกทำ ฝึกจิต ให้คิดเป็น

…คิดเพื่อหา เหตุผล ต้นความคิด
ต้องฝึกจิต ให้รู้ ดูให้เห็น
ทำประจำ จากเช้า จนถึงเย็น
ไม่ว่างเว้น ฝึกทำ จนชำนาญ

…ให้ใจเรา นั้นอยู่ กับกุศล
เป็นมงคล ชีวิต จิตอาจหาญ
ทำสิ่งใด ก็รู้เท่า ทันเหตุการณ์
นี่คืองาน ฝึกสติ ให้รู้ทัน

… ระลึกรู้ ให้เห็น ความเป็นอยู่
โดยตามดู ความคิด จิตเรานั้น
แยกถูกผิด ชั่วดี ออกจากกัน
ให้ใจนั้น มีสติ อยู่คุ้มครอง

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔…

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๔

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๔…

…เป็นสิ่งทุกคนไม่คาดคิด ที่เห็นเราในเพศบรรพชิตในวันนี้ เพราะจากอดีตที่ผู้คนเคยสัมผัสมา เคยเป็นคนที่ไม่มีศาสนาเป็นขี้เหล้า ขี้ยา อันธพาล เป็นพวกบ้าอุดมการณ์หัวเอียงซ้าย ถูกมองว่าเป็นคนโหดร้ายหัวรุนแรง ไม่เคยเชื่อในเรื่องบาปกรรม

…ในวันที่ตัดสินใจอำลาวงการไปนั้นก็ไม่ได้บอกให้ใครทราบ หายออกจากที่พักในกรุงเทพฯทิ้งน้องๆไปอย่างไร้ร่องรอย เก็บตัวปฏิบัติอยู่ในป่าเขาไม่ติดต่อกับมิตรสหายเป็นเวลาเกือบสามปี จนมีวันหนึ่งน้อง ๆ ที่พยายามตามหาได้ไปพบ อาศัยปักกรดอยู่ในถ้ำกำลังนั่งเรียงกระดูกที่ขุดขึ้นมาจากป่าช้าอยู่ น้อง ๆ คิดว่าเราเพี้ยนไปแล้วซึ่งช่วงนั้นเรากำลังศึกษาเรื่อง “กายคตากัมมัฏฐานและเรื่องอสุภกัมมัฏฐาน” การพิจารณาร่างกายและความไม่สวยงามทั้งหลาย จึงจำเป็นต้องใช้โครงกระดูกของซากศพคนจริง ๆ มาพิจารณา คนที่ไม่เข้าก็เลยว่าเป็นบ้าเพี้ยนไปแล้ว ซึ่งหลังจากวันที่น้อง ๆ ได้ตามตัวพบแล้วนั้น ก็ได้ออกธุดงค์เข้าป่าไปเก็บตัวอยู่ในหุบเขาเป็นเวลาหนึ่งปีเต็มไม่ได้ติดต่อกับใครอีกเลย…

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๔”

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๓

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๓…

…อวดดี ทั้งที่ไม่มีดีในตัว
อวดเก่งทั้งที่ไม่มีความเก่งในตัว
อวดรู้ ทั้งที่ไม่มีความรู้อะไรในตัว
คนโง่ชอบอวดตัวว่าเป็นคนฉลาด
คนขี้ขลาด มักจะอวดตัวว่าเป็นผู้กล้า….

…วางใจให้มันมั่งคง ไม่กังวลไม่สนใจใคร ทำให้เหมือนกับอยู่คนเดียว ภายนอกเคลื่อนไหวภายในทำใจให้สงบ พิจารณาร่างกายพิจารณาดูจิต มันฟุ้งซ่านไปไหนก็ให้รู้จักมัน รู้เท่าทันกับกิเลสสู้กับกิเลสที่เกิดขึ้นในใจเราเอาชนะมันให้ได้ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับวันๆหนึ่ง…

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๓”

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๒

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๒…

…กระแสธรรมที่พัดผ่านกาลเวลา…

…พบปะสนทนากับผู้คนมากมายทั้งในเรื่องทางโลกและทางธรรมตามกรรมตามวาระ อาศัยหลักธรรมเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัย ปรับใช้กับชีวิตในแต่ละวันเวลา แต่ละสถานที่และตัวบุคคล เพราะทุกคนที่เราพบปะนั้น มีเหตุผลของแต่ละคนที่แตกต่างกัน จึงต้องคัดสรรค์ธรรมให้เหมาะสมให้สอดคล้องกับจังหวะเวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคลสิ่งที่ต้องขบคิดและพิจารณาก็คือการใช้ภาษาในการสนทนาธรรมว่าจะทำอย่างไรในการถ่ายทอดที่จะให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ใช้ภาษาอย่างไรที่จะให้เขาเข้าใจได้ง่ายซึ่งบางครั้งการที่เราใช้ภาษาในเชิงวิชาการมากไปนั้น บางครั้งก็เพิ่มความไม่เข้าใจให้แก่ผู้ฟังเพราะเป็นภาษาที่เข้าใจได้ยากเช่นคำศัพท์ภาษาบาลี หรือคำศัพท์ภาษาธรรม เพราะว่าฟังแล้วต้องหาคำแปล คำอธิบายคำศัพท์อีกรอบหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก สับสนทั้งผู้พูดและผู้ฟัง เพราะไปติดยึดในการสร้างวาทะกรรมให้สวยหรูดูดี

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๒”

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๑

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๑…

…สามสิบกว่าปีแล้วที่ได้เดินทางไปร่วมสร้าง ร่วมบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามตามที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ยอมรับว่ามีบ้างที่เหนื่อยล้าทั้งกายและใจแต่ไม่เคยที่จะท้อถอย ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นได้เรียนรู้อะไรมากมายทั้งในสิ่งที่จับต้องได้ อันเป็นรูปธรรมทั้งหลายและในสิ่งที่จับต้องไม่ได้แต่รู้ได้ด้วยใจ อันเป็นนามธรรมทั้งหลาย สิ่งที่ผ่านมานั้นมันคุ้มค่ากับวันเวลาที่ผ่านไป เมื่อสิ่งที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้นั้นมันบรรลุผลตามที่วางไว้ บอกกับตัวเองอยู่เสมอว่า “เราเป็นเพียงสายลมที่พัดผ่านกาลเวลา ไม่เคยติดยึดในสิ่งที่ได้สร้างทำมา เพียงผ่านมาแล้วก็จากไป เหลือไว้เพียงความทรงจำที่งดงาม”

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๙๑”