ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๓๐

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๓๐…

…สรรพสิ่งมันเป็นเช่นนั้นเอง…

…สรรพสิ่งเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง
คือความจริงสัจจะในวันนี้
และปัญหาหลายหลากที่มากมี
คือสิ่งที่ต้องคิดพิจารณา…

…ทุกอย่างนั้นล้วนเกิดจากต้นเหตุ
ควรสังเกตวิเคราะห์และศึกษา
ทุกอย่างนั้นมีเหตุให้เกิดมา
จงมองหาให้เห็นความเป็นจริง…

…เมื่อรู้เห็นและเข้าใจในที่เกิด
จิตบรรเจิดย่อมเข้าใจสรรพสิ่ง
เห็นเหตุผลและปัจจัยใช้อ้างอิง
เพราะทุกสิ่งล้วนเกิดดับธรรมดา…

…มีเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับ
เปลี่ยนสลับกันไปตามเนื้อหา
อนิจจังทุกขังอนัตตา
ธรรมดามันเป็นเช่นนั้นเอง…

…เมื่อจิตรู้และเข้าใจในสิ่งนี้
ก็ไม่มีอะไรไปข่มเหง
เกิดละอายในชั่วและกลัวเกรง
จิตก็เก่งมีสติใช้ตริตรอง…

…เมื่อมองโลกมองธรรมนำมาคิด
ชำระจิตชำระใจไม่เศร้าหมอง
ดำเนินจิตก้าวไปในครรลอง
และเฝ้ามองกายจิตคิดถึงธรรม…

…มีสติระลึกรู้อยู่ทั่วพร้อม
จิตก็น้อมพาใจไม่ใฝ่ต่ำ
จิตก็เดินไปในโลกและในธรรม
เพราะน้อมนำธรรมะมานำทาง..

…เดินตามธรรมนำทางสว่างจิต
นำชีวิตก้าวไปใจสว่าง
รู้จักลดรู้จักละรู้จักวาง
ไม่หลงทางเพราะมีธรรมนั้นนำไป…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๕…

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๙

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๙…

…ดั่งที่เคยกล่าวไว้ว่า…วิถีโลกและวิถีธรรมนั้นต้องจะเดินคู่กันไป…เพราะว่าเราทั้งหลายนั้น ต้องใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม มิอาจจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันไม่มากก็น้อย ตามจังหวะ เวลาโอกาส สถานที่และตัวบุคคลเป็นเหตุและผลซึ่งกันและกันโลกและธรรมจึงต้องเดินคู่กันไป

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๙”

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๘

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๘…

“ความไม่ประมาท เป็นยอดแห่งธรรมทั้งปวง”
“อปฺปมาโท เตสํ ธมฺมานํ อคฺคมกฺขายติ”
พุทธสุภาษิต คถาคตสูตร ๑๙/๖๗
……………………………….

…ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแต่สมมุติกันขึ้นมา บัญญัติกันตามชาติและภาษาจึงมีชื่อแตกต่างกันออกไป ไม่มีอะไรที่จะฝืนกฎของพระไตรลักษณ์นั้นได้เลยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมา คือมายาของโลกสมมุติ ที่เราหลงไปติดอยู่ หลงเข้าไปยึดถือ จนไม่เห็นสัจธรรมที่แท้จริง ของสรรพสิ่งธรรมชาติที่อยู่รอบกายและภายในจิตภายในใจของเรา…

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๘”

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๗

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๗…

…ทุกอย่างย่อมจะมีความสำเร็จได้ถ้าหากเรานั้นมีความตั้งใจและพยายามเดินตามความฝันของเรานั้นต่อไปไม่ท้อถอยหรือหวั่นไหวกับอุปสรรคปัญหามีความศรัทธาและเชื่อมั่นในความดีที่กระทำสิ่งนั้นย่อมจะนำไปสู่ความสำเร็จของชีวิตในสิ่งที่ตนคิดและกิจที่ตนนั้นปรารถนาเพราะว่าความสำเร็จของชีวิต อยู่ที่จิตคิดว่าพอ…

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๗”

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๖

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๖…

…อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ…

…ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบมีปกติอ่อนน้อม (ต่อผู้ใหญ่) เป็นนิตย์…

…แต่ละวันที่ผ่านไปนั้นทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ ทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติเสร็จจากกิจวัตรของสงฆ์ ก็มาปฏิบัติกิจวัตรของการเป็นผู้นำเจ้าของสถานที่ของหมู่คณะ คือการตรวจตราดูแลการก่อสร้าง ดูแลความเรียบร้อยในที่อยู่อาศัย สนทนาและให้กำลังใจแก่คนผู้ร่วมงานทั้งหลาย คิดโครงการวางแผนงานที่จะทำกันต่อไป นี้คืองานในทางโลก

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๖”

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๕

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๕…

…บางครั้งในสิ่งที่ไม่อยากจะทำก็ต้องทำและในสิ่งที่อยากจะทำก็ไม่ได้ทำ เพราะว่าทุกอย่างนั้นขึ้นอยู่กับ จังหวะ เวลา โอกาสสถานที่และตัวบุคคล เป็นเหตุและปัจจัยให้เกิดสิ่งนั้น พิจารณาเป็นธรรมะ มันก็อยู่ในฐานเวทนาหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ คือ ความยินดีและไม่ยินดี ถ้าเราได้กระทำในสิ่งที่เรายินดี ในสิ่งที่ชอบในสิ่งที่ใช่ใจของเราก็จะมีความยินดีพอใจในสิ่งที่กระทำนั้น

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๕”

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๔

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๔…

…คติธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต….
คัดจากหนังสือ ขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะ…..

…”การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์ จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง”…

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๔”

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๓

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๓…

…หลักธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นจัดเรียงกันอย่างเป็นระเบียบเป็นหมวดหมู่ไม่มีการขัดแย้งกัน สงเคราะห์อนุเคราะห์เกื้อกูลรองรับซึ่งกันและกัน เราไม่อาจจะไปปรับหลักทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ให้มาตรงกับความคิดเห็นของเรานั้นได้แต่เราสามารถที่จะย้ายจุดยืนของเรานั้นให้ไปตรงกับหลักที่วางไว้ตั้งไว้ได้

…เพียงเราปรับเปลี่ยนความคิดและมุมมองของเราเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องรองรับกับหลักธรรม เพียงคุณเปลี่ยนความคิดชีวิตคุณก็จะเปลี่ยน

…น้อมจิตเข้ามาพิจารณาตัวของเราเองให้เห็นกาย เห็นจิต เห็นความคิด เห็นการกระทำ โดยการมีสติและสัมปชัญญะที่เป็นสัมมาทั้งหลายคุ้มครองกายจิตอยู่วางจิตให้เป็นกลาง ไม่เข้าข้างความคิดเห็นของตนเอง แล้วดวงตาเห็นธรรมก็จะเกิดขึ้นแก่ตัวคุณ…

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๓”

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๒

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๒…

…เร่ร่อนอยู่บนถนนที่ทอดยาว มากมายด้วยยวดยานที่ผ่านไปมา เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาไปตามเส้นทาง หยุดบ้างพักบ้างเมื่อเหนื่อยล้า พบปะเจรจากับเพื่อนผู้ร่วมทาง ต่างคนต่างมีเป้าหมายของการเดินทาง

…เก็บเกี่ยวทุกอย่างที่เป็นประสบการณ์เรียนรู้ชีวิตและความคิดของผู้ร่วมทางนำมาเป็นแบบอย่างและปรับใช้ให้เหมาะสมกับความเป็นไปของชีวิตจังหวะ เวลา โอกาส สถานที่ และบุคคลคือเหตุผล และความเหมาะสม ของการดำเนินการ มองทุกสิ่งทั้งสองอย่างทั้งคุณและโทษ ให้เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสิ่งเหล่านั้นจัดสรรทุกอย่างให้อยู่บนความเหมาะสม

…เรียนรู้และพอใจในสิ่งที่มีและเป็นอยู่ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อยทำหน้าที่ของผู้ให้… ให้สมบูรณ์… สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปเป็นเรื่องของวิบากกรรม…

…แด่การเดินทางของชีวิต…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๕ สิงหาคม ๒๕๖๕…

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๑

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๑…

…จิตตื่น กายตื่น น้อมจิตสู่ธรรม…

…พบสิ่งใหม่ และที่ใหม่ ใจจะตื่น
จะพลิกฟื้น จิตใหม่ ให้ค้นหา
เพราะที่ใหม่ สิ่งใหม่ นั้นแปลกตา
อยากรู้ว่า สิ่งที่เห็น เป็นเช่นไร

…เมื่อได้ดู ได้รู้ และได้เห็น
มันก็เป็น อย่างนั้น สิ้นสงสัย
ความแปลกตา แตกตื่น ก็หมดไป
จากสิ่งใหม่ กลายเป็นเก่า ก็เท่ากัน

…ความคุ้นเคย อาจทำให้ ใจนั้นหย่อน
จิตถอดถอน หย่อนยาน ไม่แข็งขัน
ความเคยชิน นั้นทำให้ ใจผูกพัน
เห็นทุกวัน ทำทุกวัน กันเรื่อยไป

…แต่ถ้าใจ ของเรา นั้นตั้งมั่น
จะกี่ปี หรือกี่วัน และที่ไหน
ทุกอย่างเกิด จากจิต และจากใจ
คิดอะไร ทำอะไร ใจมั่นคง

…มีสัจจะ รับผิดชอบ ต่อหน้าที่
สิ่งที่มี สิ่งที่เป็น ไม่ลืมหลง
รักษาจิต รักษาใจ ให้ยืนยง
และมั่นคง ต่อข้อวัตร ด้วยศรัทธา

…จิตสำนึก การใฝ่ดี นั้นมีอยู่
จิตรับรู้ เร่งฝึกฝน เพื่อค้นหา
ปลุกสำนึก การใฝ่ดี ให้ตื่นมา
เพื่อนำพา สู่ชีวิต ทิศทางด

…ต้องเริ่มทำ ที่ตัวเรา เอาแบบอย่าง
สู่เส้นทาง สายใหม่ ในวิถี
ลบสลาย พฤติกรรม ที่ไม่ดี
ที่มันมี ที่มันทำ แต่ก่อนมา

…เพียงคุณเปลี่ยน ความคิด ชีวิตเปลี่ยน
ไม่วนเวียน อยู่ใน ห้วงตัณหา
มีสติ คุณธรรม นำปัญญา
ก็จะพา สู่ชีวิต นิมิตดี

…ทุกสิ่งนั้น ไม่ยาก เกินแก้ไข
ถ้าหากใจ ยอมทำ ตามหน้าที่
รับผิดชอบ ในบทบาท ตามที่มี
เพียงเท่านี้ ก็ชื่อว่า เข้าหาธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๔ สิงหาคม ๒๕๖๕…