ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๐

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๐…

…สิ่งที่ควรกระทำนั้นต้อง ไม่เป็นภัยต่อชีวิตตนเอง ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่นไม่ฝ่าฝืนพระธรรมวินัยและกฎระเบียบของสังคม เป็นไปตามความเหมาะสมของ จังหวะเวลา โอกาส สถานที่ บุคคล อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล ปัจจัยองค์ประกอบทั้งหลาย เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศลเป็นมงคลแก่ชีวิต จากสิ่งที่คิดและสิ่งที่ทำ นั้นคือความ “เรียบง่ายไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ” เป็นกิจที่สมณะนั้นควรคิดควรทำในการดำเนินชีวิต เพื่อพัฒนาทางจิตไปสู่ความสงบเพื่อความจางคลายของอัตตา กิเลส ตัณหาและอุปาทานทั้งหลาย…

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๐”

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๙

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๙…

“เรียบง่าย ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ”

…บางครั้งจึงเกิดปัญหาแก่ลูกศิษย์ผู้ที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ แล้วเอาไปกระทำตาม คืออยากจะทำอะไรตามที่ใจของตนปรารถนา แล้วบอกว่าเป็นการไม่ยึดติดในรูปแบบซึ่งมันเป็นความเห็นและการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งนั้นเกิดมาจากความขี้เกียจ ความมักง่ายไม่ได้เกิดจากความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่เป็นไปเพื่อสนองตัณหา ความอยากกระทำของตนเอง สิ่งนั้นมันไม่ใช่การปล่อยวางแต่มันเป็นการทอดทิ้งธุระ คือการละเลยไม่ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่มิชอบเพราะไม่ประกอบด้วยกุศลจิตเป็นพื้นฐานในการคิดและการกระทำ…

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๙”

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๘

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๘…

…อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ…

…ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบมีปกติอ่อนน้อม (ต่อผู้ใหญ่) เป็นนิตย์…

…ชีวิตในแต่ละวันที่ผ่านไปนั้นทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ ทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติ เสร็จจากกิจวัตรของสงฆ์ก็มาปฏิบัติกิจวัตรของการเป็นผู้นำเจ้าของผู้ดูแลสถานที่ของหมู่คณะ นั้นคือการตรวจตราดูแลการก่อสร้าง ดูแลความเรียบร้อยในที่อยู่อาศัย สนทนาและให้กำลังใจแก่คนผู้ร่วมงานทั้งหลายคิดโครงการวางแผนงานที่จะทำกันต่อไปในอนาคตข้างหน้า นี้คืองานในทางโลก

…ส่วนงานในทางธรรมนั้นก็คือการเจริญสติภาวนา ตามเวลาและโอกาสที่สามารถจะทำได้ ใช้เวลาที่ผ่านไปอยู่กับการทำงานโยธากัมมัฏฐาน เพราะถือว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม เพราะเป็นการฝึกเจริญสติฝึกควบคุมความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ที่แปรเปลี่ยนเมื่อพบ กับสิ่งกระทบทั้งหลาย

…เพราะการทำงานนั้น ต้องมีความสัมพันธ์กับหมู่คณะต้องพบปะพูดคุยและต้องทำงานร่วมกันกับผู้คนหลากหลาย หลายคนก็หลายความคิดและแตกต่างกันด้วยจิตและอารมณ์ทำให้ต้องควบคุมตนเองให้มากขึ้น มีสติระลึกรู้มากขึ้น ก่อนที่จะพูดและทำ

…เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันทั้งทางกายและทางจิตกับผู้ร่วมงานการทำงานนั้นก็กลายเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว เพราะว่าเราต้องอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง ต้องพบปะกับผู้คนต้องทำงาน ต้องทำกิจเพื่อเลี้ยงชีวิตตามอัตภาพของสงฆ์ ไม่ใช่จะมีเวลานั่งหลับตาภาวนาเพียงอย่างเดียว หรือไม่พบปะกับผู้คนเลย เราต้องอยู่กับโลกกับสังคม

…นี้คือความเป็นจริงของชีวิต…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ -สมณะไร้นาม…
…๑ สิงหาคม ๒๕๖๕…

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๗

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๗…

…เพียงคุณเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมของชีวิต ชีวิตคุณก็จะเปลี่ยนไป ดังที่เคยกล่าวไว้เสมอว่า “ถึงจะเปลี่ยนชื่อใหม่สักร้อยครั้ง แต่ถ้ายังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมและความคิด ชีวิตก็ยากที่จะประสพกับความสำเร็จ” ความขี้เกียจ มักง่าย ไร้จิตสำนึกไร้จินตนาการ คือหนทางแห่งความเสื่อมของชีวิต ยากต่อการที่จะชี้แนะส่งเสริมหรือให้การสนับสนุนให้ประสพกับความสำเร็จในชีวิตได้…

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๗”

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๖

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๖…

…พระพุทธพจน์…
…เหตุ ๖ ประการเหล่านี้คือ
– การนอนตื่นสาย ๑
– การเสพภรรยาผู้อื่น ๑
– การผูกเวร ๑
– ความเป็นผู้ทำแต่สิ่งอันหาประโยชน์มิได้ ๑
– มิตรชั่ว ๑
– ความเป็นผู้ตระหนี่เหนียวแน่น ๑
ย่อมกำจัดบุรุษเสียจากประโยชน์ที่จะพึงได้พึงถึง…
…(ที.ปาฏิ.๑๘๕ )…

๐ ใคร่ครวญ ทบทวนธรรม
เตือนความจำ ไว้ในจิต
แยกแยะ ความถูกผิด
ระลึกรู้ อยู่แก่ใจ

๐ สติ ระลึกรู้
เฝ้าตามดู อยู่ภายใน
รู้เห็น ความเป็นไป
การเกิดดับ ของอารมณ์

๐ ผัสสะ สิ่งกระทบ
ที่ค้นพบ ประสานสม
เผลอใจ ไปชื่นชม
จิตปรุงแต่ง และคล้อยตาม

๐ ก่อเกิด เป็นปัญหา
เพราะนำพา ให้เสื่อมทราม
เล่ห์กล แห่งบ่วงกาม
โลกธรรม นั้นนำพา

๐ เผลอใจ เพียงน้อยนิด
เพราะลืมพิจารณา
ขาดซึ่ง ตัวปัญญา
เพราะตามรู้ ดูไม่ทัน

๐ สติ ระลึกได้
จึงแก้ไข โดยฉับพลัน
มาดู ใจเรานั้น
ให้รู้ตัว และทั่วพร้อม

๐ เอาใจ ไว้กับธรรม
กุศลนำ ให้นึกน้อม
ข่มใจ ให้ยินยอม
การปรุงแต่ง ก็ดับลง

๐ เกิดดับ สลับกัน
ถ้าเรานั้น ไม่ไปหลง
สติ ที่มั่นคง
ทำให้รู้ อยู่กับธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕…

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๕

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๕…

…”วันคืน ไม่ควรให้ผ่านไปเปล่า “
“รตฺโย อโมฆา คจฺฉนฺติ “…
…โพธิสัตว์สุภาษิต…

…ชีวิตแก้ไขได้ เมื่อละลายพฤติกรรม…

…วันเวลา ผ่านไป ไม่หยุดนิ่ง
สรรพสิ่ง เคลื่อนไหว ในทุกหน
แม้นแต่จิต และใจ ภายในตน
ยังดิ้นรน ไขว่คว้า หาทางไป

…ภายนอกนั้น อาจจะดู ว่าสงบ
แต่ค้นพบ ว่าจิตนั้น ยังหวั่นไหว
กระแสโลก ที่กระทบ จบที่ใจ
จิตหวั่นไหว เพราะว่าใจ ไม่มั่นคง

…จึงตามดู ตามรู้ ดูที่จิต
ดูความคิด ของจิต เมื่อมันหลง
ดูให้เห็น ความเป็นอยู่ แล้วก็ปลง
จิตมั่นคง เมื่อมีธรรม นั้นนำทาง

…ความเคยชิน ที่สะสม มานมนาน
เพราะว่าผ่าน หลายเรื่องราว ในโลกกว้าง
การจะลด การจะเลิก การจะวาง
จึงต้องสร้าง ความชินใหม่ ไปทดแทน

…นั้นคือการ ละลาย พฤติกรรม
ที่เคยทำ จนเกาะกุม เป็นปึกแผ่น
จึงต้องสร้าง สิ่งใหม่ ไปทดแทน
แม้นจะแสน ยากนัก จักต้องทำ

…ทุกอย่างนั้น มีแนวทาง จะแก้ไข
อยู่ที่ใจ ของเรา จะหนุนค้ำ
ยอมแก้ไข ในสิ่ง ที่เคยทำ
พฤติกรรม เก่าเก่า ยอมละวาง

…ยอมลดละ อัตตา และมานะ
ยอมลดละ ทำใจ ให้เปิดกว้าง
โลกทัศน์ ชีวทัศน์ ต้องจัดวาง
เปลี่ยนทุกอย่าง ที่เคยทำ กรรมไม่ดี

…ไม่มีคำ ว่าสาย หากเริ่มต้น
ความหลุดพ้น มีได้ ในทุกที่
เริ่มจากใจ จากจิต คิดให้ดี
ต้องเริ่มที่ ใจของเรา เท่านั้นเอง…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕…

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๔

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๔…

…มีสติอยู่กับกายและจิตในขณะทำงานที่ร่างกายนั้นเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาคือการเจริญสติสัมปชัญญะ ตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ ในอิริยาบถบรรพและสัมปชัญญะบรรพ คือพิจารณาดูอิริยาบถของกายและพิจารณา รู้ตัวทั่วพร้อมในความเคลื่อนไหว ขณะที่ทำงานไปพิจารณาไปจนไม่ได้สนใจกับเวลาที่ผ่านไป พยายามทรงไว้ซึ่งอารมณ์กรรมฐานไว้ โดยการมีสติและสัมปชัญญะอยู่กับกาย เวทนา จิต ธรรมอยู่ตลอดเวลา พิจารณาในหัวข้อธรรม…

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๔”

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๓

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๓…

…มีพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศีลเป็นพื้นฐานเป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีพและหาชีพมิได้ เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์ มหาสิงขรและสัตว์จตุบาท ทวิบาทนานาชนิดบุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบายมีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่ปัดกวาด เช็ดถูเรียบร้อย ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน” ….

…”สวรรค์ อยู่ในอก
และนรก อยู่ในใจ “
เราทำ สิ่งใดไว้
รู้แก่ใจ ของเราเอง

…ดีชั่ว ตัวกำหนด
จะละลด ควรรีบเร่ง
ความชั่ว จงกลัวเกรง
อย่าอวดเบ่ง เพราะถือดี

…บาปกรรม อันน้อยนิด
จะตามติด ไปทุกที่
ส่งผล ทางไม่ดี
ให้เรามี ความทุกข์ใจ

…ความดี ควรรีบทำ
เพื่อจะนำ จิตสดใส
ความดี ที่ทำไป
ส่งผลให้ ได้เจริญ

…เมื่อใจ ไม่คิดชั่ว
และทำตัว น่าสรรเสริญ
พาใจ ให้เพลิดเพลิน
จิตเจริญ ในทางธรรม

…มองโลก ในแง่ดี
ก็จะมี ความสุขล้ำ
ความชั่ว ไม่ครอบงำ
ก็จะทำ แต่สิ่งดี

…สิ่งดี เริ่มที่จิต
อยู่ที่คิด ไม่ผิดที่
คิดดี และทำดี
เพียงเท่านี้ ดีก็มา

…ใจดี ก็มีสุข
เพราะว่าทุกข์ ไม่มาหา
ใจสุข ภาวนา
เกิดปัญญา เห็นความจริง

…ความจริง ของชีวิต
เห็นเมื่อจิต นั้นอยู่นิ่ง
มองเห็น สรรพสิ่ง
เห็นความจริง คือเห็นธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕…

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๒

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๒…

…ฝากสายลม ผ่านร่มไม้ จากชายน้ำ บันทึกเรื่องราวความรู้สึกนึกคิดของจิตวิญาณ ผ่านกาลเวลาแห่งช่วงอารมณ์ มันคือปัจจุบันธรรม อันเป็นธรรมชาติของจิตที่แท้จริงที่เราควรคิดพิจารณา

…“ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็นแล้วก็ปล่อย” สิ่งนี้เป็นคติธรรมที่ใช้ในการสอนศิษย์และคนใกล้ชิดทั้งหลาย เพื่อที่จะได้รู้พื้นฐานความคิดและจิตสำนึกของเขาเหล่านั้นว่าเขามีพื้นฐานเป็นอย่างไร โดยการกระทำทางกายให้เห็น ทำให้เป็นตัวอย่าง ไม่ต้องกล่าวไม่ต้องสอนด้วยวาจาในเบื้องต้น

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๒”

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่๑๑

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่๑๑…

…เหนื่อยล้ากับการแรมรอนของชีวิตบางครั้งเคยคิดที่จะหยุดซึ่งลมหายใจอยากจะจากไปโดยไม่ต้องหวนกลับมาบอกลาซึ่งการเกิดแก่และเจ็บตายแต่ยังทำไม่ได้เพราะบุญกุศลไม่เพียงพอจึงต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปในโลกที่แสนจะวุ่นวายทำให้ยอมรับกับความจริงสิ่งเหล่านั้นให้ได้

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่๑๑”