เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๙๑

…เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๙๑…

…ไม่เคยยึดติดอยู่กับผลงานหรือสถานที่ เพียงทำหน้าที่ให้เสร็จสมบูรณ์แล้วจากไป ทิ้งไว้และเก็บไปเพียงความทรงจำที่ดีงาม ผ่านมาแล้วก็จากไป อาจจะหวนมาใหม่เมื่อถึงกาลเวลา ชีวิตที่ผ่านมาจึงคล้ายกับสายลมที่พัดผ่านกาลเวลา

…มาเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ได้ขาดหายไปนั้นคือความมั่นใจในตนเองของผู้คนที่เขาขาดความเชื่อมั่น ซึ่งทุกคนนั้นมีพลังความสามารถอยู่ในตัวเองกันทุกคน เพียงแต่บางครั้งนำมาใช้ไม่เป็น จึงต้องหาที่พึ่งทางใจพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคล ครูบาอาจารย์เพื่อเพิ่มความมั่นใจและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ตนและสิ่งที่จะเสริมศรัทธา ความเชื่อมั่นให้แก่เขาได้นั้น มันต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้และเห็นได้ด้วยตาเนื้อ เขาจึงจะเชื่อและศรัทธา

อ่านเพิ่มเติม “เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๙๑”

รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๙๑

…รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๙๑…

…“ไปทะเลาะทุ่มเถียงกับเสือดีกว่าไปทะเลาะกับคนโง่ เพราะคนโง่ไม่มีเหตุผลหรือมีแต่เหตุผลของคนโง่”…
…คำของหลวงพ่อพุทธทาส…

๐ โลกธรรม นำมา ซึ่งสะสม
ค่านิยม สังคม แห่งยุคใหม่
เพื่อโอ้อวด แข่งขัน กันเรื่อยไป
หวังกำไร กอบโกย ไม่ระวัง

๐ ทั้งลาภยศ สรรเสริญ เพลินในสุข
ทำให้ทุกข์ ตามมา ในภายหลัง
เมื่อเสื่อมยศ เสื่อมลาภ ให้ล้มพัง
มีคนชัง ไม่สรรเสริญ ไม่เยินยอ

๐ กินกามเกียรติ กอบโกย เพราะโหยหา
ให้ได้มา ในสิ่ง ที่ร้องขอ
เพราะความที่ อยากได้ ไม่รู้พอ
จึงเกิดก่อ ความทุกข์ ไม่สุขใจ

๐ ความสำเร็จ ของชีวิต ที่คิดหา
คือทรัพย์สิน เงินตรา นั้นหาไม่
ความสำเร็จ ของชีวิต อยู่ที่ใจ
บอกว่าพอ เมื่อไหร่ ก็ใช่เลย

๐ เมื่อมุ่งหวัง มาเป็น สมณะ
เพื่อลดละ ทุกสิ่ง ไม่นิ่งเฉย
ทั้งอัตตา ตัวตน ที่คุ้นเคย
กิเลสเอย ตัณหาเอย ควรละวาง

๐ อยู่กันแบบ พอเพียง ก็เพียงพอ
การร้องขอ เกินไป ออกให้ห่าง
เดินตามธรรม มีธรรม เป็นแนวทาง
ตามแบบอย่าง พระอาจารย์ ท่านทำมา

๐ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นตัวอย่าง
ท่านได้สร้าง แบบไว้ ให้ศึกษา
ตามหลักธรรม ขององค์ พระสัมมา
ใช้ปัญญา มีสติ และตริตรอง

…” คุณ…คิดดี แล้วหรือ ที่กระทำ
มา…ถลำ ทำชั่ว ให้มัวหมอง
ทำ…เพื่อใคร โปรดคิด ด้วยจิตตรอง
อะไร…ถูก อะไรต้อง จงตรองดู “…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑ มิถุนายน ๒๕๖๕…

สดับธรรมในยามเช้าก่อนลงทำวัตร

…สดับธรรมในยามเช้าก่อนลงทำวัตร…

…คนเราควรมองผู้มีปัญญาใด ๆ ที่คอยชี้โทษคอยกล่าวคำขนาบอยู่เสมอไป ว่าคนนั้นแหละคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ละ ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้นเมื่อคบหากับบัณฑิตชนิดนั้นอยู่ ย่อมมีแต่ดีท่าเดียว ไม่มีเลวเลย…
…พระไตรปิฎกบาลี สยามรัฐ ๒๕/๒๕/๑๖…

…มีญาติโยมถามว่า เป็นพระเถระผู้ใหญ่แล้วทำไมต้องออกมารับบิณฑบาต ต้องกวาดลานวัดด้วย ก็ได้ตอบคำถามญาติโยมไปว่าการออกรับบิณฑบาตและกวาดลานวัดนั้นเป็นกิจวัตรข้อหนึ่งของพระสงฆ์ในกิจวัตร๑๐ ประการ คือ…

อ่านเพิ่มเติม “สดับธรรมในยามเช้าก่อนลงทำวัตร”

ปรารภธรรมในยามเย็น

…ปรารภธรรมในยามเย็น…

…ความรู้ในเรื่องทางโลกนั้นเป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องภายนอกกายและจิตของเรา ส่วนความรู้ในทางธรรมนั้นศึกษาค้นหาภายในตัวเรา เกี่ยวกับกายและจิต คือเรื่องความคิดและการกระทำของตัวเราเอง เพื่อให้เข้าใจกายและจิตเข้าใจความคิด ความรู้สึกและการกระทำของตัวเรา แยกแยะในสิ่งที่เป็นกุศลและความเป็นอกุศล รู้จักข่มจิตข่มใจ ควบคุมความคิดและจิตไม่ให้เป็นอกุศล ด้วยองค์แห่งคุณธรรมคือความมี “หิริและโอตตัปปะคือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป” ด้วยการมีสติและสัมปชัญญะที่เป็นฝ่ายกุศลธรรม

อ่านเพิ่มเติม “ปรารภธรรมในยามเย็น”

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๑๑

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๑๑…

…จิตสำนึกแห่งคุณธรรม…

… มนุษย์ทุกคนมีความคิดถูกหรือผิดต่างรู้อยู่แก่ใจ แต่ที่ยังกระทำลงไปในสิ่งผิดเป็นเพราะว่าขาดจิตสำนึกแห่งคุณธรรม ที่จะหักห้ามใจมิให้กระทำผิด

… จิตสำนึกต้องผ่านการฝึกฝน ฝึกนึกฝึกคิดปรับจิตให้เป็นกุศล ฝึกพูดในสิ่งที่เป็นมงคลแก่ตนเองและผู้อื่น ฝึกกระทำในสิ่งที่คิดและพูดที่เป็นความดี เพียรกระทำอย่างนี้อย่างสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นความเคยชินและติดเป็นนิสัย

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๑๑”

สาระกวีธรรมในยามก่อนรุ่งอรุณ

…สาระกวีธรรมในยามก่อนรุ่งอรุณ…

๐ สายลมเย็น พัดผ่าน ในยามค่ำ
ฟ้ามืดดำ คล้ายเดือนแรม ไม่แจ่มใส
เดือนและดาว บนฟ้า มาลาไป
ท้องฟ้าไร้ ซึ่งแสง แห่งดวงดาว

๐ เสียงสายลม พัดประสาน เป็นงานศิลป์
กลิ่นไอดิน ฟุ้งกระจาย ให้เหน็บหนาว
สกุณา ขับขาน เป็นครั้งคราว
คือเรื่องราว ที่ผ่านไป ในค่ำคืน

๐ ลมพัดพา เมฆไป ให้กระจ่าง
ฟ้าสว่าง พาใจ ให้สดชื่น
ช่วยปลุกใจ มิให้หลับ กลับมาตื่น
และพลิกฟื้น หัวใจ ให้ใฝ่ธรรม

อ่านเพิ่มเติม “สาระกวีธรรมในยามก่อนรุ่งอรุณ”

ใคร่ครวญทบทวนธรรมหลังตื่นนอน

…ใคร่ครวญทบทวนธรรมหลังตื่นนอน…

…หลวงพ่อพุทธทาสท่านสอนไว้ว่า ชีวิตคือการทำงาน การทำงานอย่างมีสตินั้นคือการปฏิบัติธรรม ดำเนินชีวิตด้วยการทำงาน ทั้งทางภายนอกและภายใน ควบคุมกายใจด้วยสติและสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา พิจารณาให้เห็นความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลาย ทำใจให้ยอมรับกับสภาพแห่งความเป็นจริงในสิ่งเหล่านั้น เมื่อใจรับได้ เพราะรู้และเข้าใจในความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้น เห็นที่มาที่ไปเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น เมื่อละวางมันได้ความทุกข์เพราะความกังวลทั้งหลายก็หายไปสิ้นไป จิตเข้าสู่ความโปร่ง โล่ง เบา

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญทบทวนธรรมหลังตื่นนอน”

รำพึงธรรมกับสายลมที่พัดผ่าน

…รำพึงธรรมกับสายลมที่พัดผ่าน…

…สังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ คือธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจหมู่คณะ และประสานหมู่คณะทั้งหลายให้เกิดความสามัคคีรักใคร่ซึ่งกันและกัน อันเป็นการสงเคราะห์ด้วยธรรมอันได้แก่…

๑. ทาน การให้คือการมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือแนะนำกัน

๒. ปิยวาจา มีวาจาเป็นที่รัก กล่าวคำสุภาพไพเราะ วาจาที่สมานสามัคคี

๓. อัตถจริยา ขวนขวายบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม “รำพึงธรรมกับสายลมที่พัดผ่าน”

รำพึงธรรมในยามเช้าของวันสิ้นเดือน

…รำพึงธรรมในยามเช้าของวันสิ้นเดือน…

….พยายามใช้เวลาที่ผ่านไปให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ระลึกรู้อยู่กับกายและจิต ยกข้อธรรมขึ้นมาพิจารณา ใคร่ครวญทบทวนตัดปลิโพธความกังวลทั้งหลายออกไปชั่วขณะ ทำจิตให้ว่างจากอัตตาพิจารณาทุกอย่างตามความเป็นจริงในสิ่งที่เห็นและรับรู้ วางจิตให้นิ่งไม่เอาความรัก ความเกลียด ความพอใจและไม่พอใจ มาตัดสินในปัญหามีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิตอยู่ตลอดเวลา แยกแยะกุศลและอกุศลออกจากกัน

อ่านเพิ่มเติม “รำพึงธรรมในยามเช้าของวันสิ้นเดือน”

รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๙๐

…รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๙๐…

… “ทำงานทุกชนิดให้จิตนั้นอยู่กับธรรม” คือพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างด้วยหลักธรรมมีสติระลึกรู้และความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดรู้จักแยกแยะถูกผิด ชั่วดี รู้จักข่มจิตข่มใจไม่คล้อยตามกิเลสความอยากทั้งหลายที่เป็นอกุศล มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปคุ้มครองจิตอยู่ทุกขณะ ทำหน้าที่ของตนไปตามบทบาทและหน้าที่ ให้เต็มกำลังความรู้ความสามารถของตนเอง ทำอยู่อย่างนี้ก็ได้ชื่อว่าท่านนั้นกำลังปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น คือการทำหน้าที่อย่างมีสติและสัมปชัญญะระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา มีเจตนาคือกุศลจิตในขณะกระทำไม่ก้าวล่วงศีลธรรมและประเพณีที่ดีงาม ทำตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตน รู้จักเหตุและผลในการกระทำนั้น ๆ ก็ได้ชื่อว่าท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เป็นผู้มีธรรมและอยู่กับธรรม…

อ่านเพิ่มเติม “รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๙๐”