บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๗๐

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๗๐…

…“นิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว” วิธีการอย่างนี้ ต้องใช้ให้เหมาะสมกับจังหวะ เวลาโอกาส สถานที่และตัวบุคคล มันจึงจะได้ผลทุกอย่างต้องมีการวิเคราะห์และพิจารณาว่าควรจะทำอย่างไร ซึ่งเราต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและแก้ไข ให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ

… “สัพเพ ธัมมา อนัตตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งที่เป็นสังขารและมิใช่สังขาร ทั้งหมดทั้งสิ้นไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ควรถือว่าเรา ว่าของเราว่าตัวว่าตนของเรา”…

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๗๐”

ความหมาย และอานิสงส์ของการถวายฉัตรพระประธาน

…ความหมายและอานิสงส์ของการถวายฉัตรพระประธาน…

…คำ ว่า “ฉัตร” สามัญชนหมายถึง “ร่ม” แต่ถ้าเป็นบุคคลผู้สูงศักดิ์ เช่น พระมหากษัตริย์ เป็นต้น เรียกกันว่า “เศวตฉัตร” ตามพระราชประเพณีเรียกกันว่า “เครื่องสูง” เป็นการสถาปนาพระเกียรติยศ สำหรับผู้ที่ควรแก่การยกย่องเชิดชู เช่น การถวายเศวตฉัตร ๗ ชั้น ให้แก่ สมเด็จพระพี่นางฯ เป็นต้น

…ตามธรรมเนียมของคนไทย โดยเฉพาะในเรื่องพระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ เชื่อว่าตัวเลขที่เป็นมงคล ต่างก็ให้ความหมายไว้ดังนี้
– เลข ๓ ได้แก่ พระรัตนตรัย คือ แก้วทั้ง ๓ ประการ
– เลข ๕ อาจจะหมายถึง พระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์
– เลข ๗ น่าจะหมายถึง โพชญงค์ ๗ (คุณเครื่องแห่งความสำเร็จ)
– เลข ๙ คนไทยถือว่าเป็นเลขดี มีความก้าวหน้าเป็นต้น โดยเฉพาะทางพุทธศาสนาหมายถึง มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑

…ฉะนั้น การจะถวายฉัตรให้แก่พระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์ชั้นสูง หรือถวายเศวตฉัตรให้แก่พระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูงก็ตาม คงจะถวายไปตามลำดับความสำคัญของบุคคลนั้นๆ ซึ่งเป็นไปตามพระราชประเพณีมาแต่โบราณ

…ส่วนอานิสงส์การถวาย “ร่ม” หรือ “ฉัตร” นั้น ในทางพระพุทธศาสนาถือว่ามีอานิสงส์สูง สมัยที่พระพุทธเจ้ายังเป็นหน่อเนื้อพระบรมโพธิสัตว์ พระองค์ยังทรงเคยถวายร่มให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งด้วย การถวายร่มหรือถวายอาสนะ เชื่อกันว่าจะได้เกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

…โดยเฉพาะสมัยพุทธกาล พระภัททิยะ ได้เกิดในตระกูล “ศากยราช” เมื่อออกบวช (ออกบวชพร้อมพระอานนท์) แล้วพระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องว่า “เป็นผู้เกิดในตระกูลสูง” ตามประวัติเล่าว่า ชาติก่อนท่านได้เคยถวายอาสนะเป็นต้น ด้วยอานิสงส์ทั้งหลายเหล่านี้ ท่านได้เกิดในตระกูลกษัตริย์ติดต่อกันถึง ๕๐๐ ชาติ เพราะตามธรรมดาคนทั่วไปมักจะเกิดสลับชาติกัน บางชาติเป็นคนธรรมดา บางชาติเป็นบุคคลสูงศักดิ์ อย่างนี้ เป็นต้น

อานิสงส์ของการถวายฉัตร

…เราได้ถวายฉัตรในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ได้เสวยอานิสงส์ ๘ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

– เราไม่รู้สึกหนาว
– ไม่รู้สึกร้อน
– ละอองและธุลีไม่แปดเปื้อน
– เราเป็นผู้ไม่มีอันตราย
– ไม่มีจัญไร
– อันมหาชนยำเกรงทุกเมื่อ
– เป็นผู้มีผิวพรรณละเอียด
– เป็นผู้มีใจกว้างขวาง (ไม่หดหู่)

…เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ ฉัตรหนึ่งแสนคันอันประกอบด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง เว้นชาตินี้แล้ว ทรงไว้เหนือศีรษะ ของเรา เพราะผลแห่งกรรมนั้น…

…ปรารถนาดีและไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕…

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๕

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๕…

…”วันคืน ไม่ควรให้ผ่านไปเปล่า “
“รตฺโย อโมฆา คจฺฉนฺติ “…
…โพธิสัตว์สุภาษิต…

…ชีวิตแก้ไขได้ เมื่อละลายพฤติกรรม…

…วันเวลา ผ่านไป ไม่หยุดนิ่ง
สรรพสิ่ง เคลื่อนไหว ในทุกหน
แม้นแต่จิต และใจ ภายในตน
ยังดิ้นรน ไขว่คว้า หาทางไป

…ภายนอกนั้น อาจจะดู ว่าสงบ
แต่ค้นพบ ว่าจิตนั้น ยังหวั่นไหว
กระแสโลก ที่กระทบ จบที่ใจ
จิตหวั่นไหว เพราะว่าใจ ไม่มั่นคง

…จึงตามดู ตามรู้ ดูที่จิต
ดูความคิด ของจิต เมื่อมันหลง
ดูให้เห็น ความเป็นอยู่ แล้วก็ปลง
จิตมั่นคง เมื่อมีธรรม นั้นนำทาง

…ความเคยชิน ที่สะสม มานมนาน
เพราะว่าผ่าน หลายเรื่องราว ในโลกกว้าง
การจะลด การจะเลิก การจะวาง
จึงต้องสร้าง ความชินใหม่ ไปทดแทน

…นั้นคือการ ละลาย พฤติกรรม
ที่เคยทำ จนเกาะกุม เป็นปึกแผ่น
จึงต้องสร้าง สิ่งใหม่ ไปทดแทน
แม้นจะแสน ยากนัก จักต้องทำ

…ทุกอย่างนั้น มีแนวทาง จะแก้ไข
อยู่ที่ใจ ของเรา จะหนุนค้ำ
ยอมแก้ไข ในสิ่ง ที่เคยทำ
พฤติกรรม เก่าเก่า ยอมละวาง

…ยอมลดละ อัตตา และมานะ
ยอมลดละ ทำใจ ให้เปิดกว้าง
โลกทัศน์ ชีวทัศน์ ต้องจัดวาง
เปลี่ยนทุกอย่าง ที่เคยทำ กรรมไม่ดี

…ไม่มีคำ ว่าสาย หากเริ่มต้น
ความหลุดพ้น มีได้ ในทุกที่
เริ่มจากใจ จากจิต คิดให้ดี
ต้องเริ่มที่ ใจของเรา เท่านั้นเอง…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕…

ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๑๔

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๑๔…

…ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแต่สมมุติกันขึ้นมา บัญญัติกันตามชาติและภาษาจึงมีชื่อแตกต่างกันออกไป ไม่มีอะไรจะฝืนกฎของพระไตรลักษณ์ได้เลย ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมานั้น คือมายาของโลกสมมุติ ที่เราหลงไปติดอยู่ หลงเข้าไปยึดถือ จนไม่เห็นสัจธรรมที่แท้จริง ของสรรพสิ่งจากธรรมชาติที่อยู่รอบกายและภายในจิตภายในใจของเรา…

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๑๔”

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๔๘

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๔๘…

…ชีวิตนี้มันเป็นของน้อยทุกวินาทีที่ผ่านไป คือการเดินไปสู่ความตายจึงจำเป็นต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ “การทำความเพียรนั้นอย่าได้หลอกตนเอง ทำให้จริงจังตั้งสติกำหนดให้สตินั้นมีกำลังแก่กล้า ทำสติและสัมปชัญญะให้มันแจ้ง” ทาน ศีล ภาวนาศีล สมาธิ ปัญญา การเจริญภาวนานั้นเป็นเครื่องชำระจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใสที่กระทำนั้นไปมีความหมายเพื่อที่จะกำจัดกิเลสภายในใจของเรา ไม่ใช่ทำไปเพื่อสนองตัณหา ให้ก่อเกิดมานะอัตตาแต่เป็นไปเพื่อความลดละแห่งกิเลสตัณหา ด้วยการพิจารณาดูกาย ดูจิต ดูความคิดของตัวเราเอง ดูตัวเราว่ามีปัญญาที่จะพิจารณาธรรมเป็นไหมและทำอย่างไร เพื่อให้เกิดความเจริญในธรรมเพิ่มขึ้น…

…คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว…

๐ มัวแต่มอง จ้องผิด คนอื่นเขา
แต่ตัวเรา เป็นอย่างไร ไม่เคยรู้
จิตคิดเลว อย่างไร ไม่เคยดู
เรื่องคนอื่น เที่ยวรู้ ไปรอบทิศ…

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๔๘”

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๖๙

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๖๙…

…ถามตัวเองอยู่เสมอว่า วันเวลาที่ผ่านไปนั้น เราได้อะไรจากวันเวลาและคุ้มค่ากับวันเวลาที่ผ่านไปหรือไม่เพื่อไม่ให้เราหลงกับวัยและเวลาชีวิตที่เหลืออยู่จะได้เร่งสร้างคุณค่าให้กับชีวิต แม้นเพียงสักน้อยนิดก็ยังดีกว่าที่เรานั้นจะไม่ได้ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ไม่ได้หวังว่าจะต้องได้ในชาตินี้หรือชาติหน้าเพียงแต่ตั้งใจว่าจะทำไปเรื่อย ๆ ถึงเมื่อไหร่ไปเมื่อนั้น จะไม่สร้างความกดดันให้กับตัวเองเหมือนที่เคยผ่านมา เพราะว่าจะทำให้เกิดอาการเกร็ง เพราะไปเคร่งแล้วมันจะเครียด เป็นการเบียดเบียนตนเองความเจริญในธรรมทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะว่าความกังวลกดดันมาขวางกั้นความเจริญในธรรมทั้งหลายมิให้เกิดขึ้น…

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๖๙”

ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๔

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๔…

…มีสติอยู่กับกายและจิตในขณะทำงานที่ร่างกายนั้นเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาคือการเจริญสติสัมปชัญญะ ตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ ในอิริยาบถบรรพและสัมปชัญญะบรรพ คือพิจารณาดูอิริยาบถของกายและพิจารณา รู้ตัวทั่วพร้อมในความเคลื่อนไหว ขณะที่ทำงานไปพิจารณาไปจนไม่ได้สนใจกับเวลาที่ผ่านไป พยายามทรงไว้ซึ่งอารมณ์กรรมฐานไว้ โดยการมีสติและสัมปชัญญะอยู่กับกาย เวทนา จิต ธรรมอยู่ตลอดเวลา พิจารณาในหัวข้อธรรม…

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๔”

ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๑๓

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๑๓…

…ทบทวนเรื่องราวหลากหลายของชีวิตที่ผ่านมาในอดีตทั้งที่เป็นฝ่ายกุศลและฝ่ายที่เป็นอกุศล ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางสายธรรม วิเคราะห์หาเหตุและปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบในสมัยนั้นที่มันเป็นไปเพราะอะไรเราจึงคิดและทำอย่างนั้นแล้วมองย้อนกลับมาสู่ปัจจุบัน จึงเห็นซึ่งความแตกต่างความแปรเปลี่ยนไปเมื่อก่อนนั้น จิตมันหยาบแข็งกระด้างเพราะอัตตาและมานะของเรายังไม่ถูกขัดเกลา จึงแน่นหนาไปด้วยกิเลสคือความรักโลภ โกรธ หลง ที่เข้าครอบงำจิตของเรา พฤติกรรมที่แสดงออกนั้นจึงก้าวร้าวรุนแรง ตอบโต้ทุกครั้งที่มีอะไรเข้ามากระทบจิต ไม่รู้จักความผิดชอบและชั่วดี ดำเนินชีวิตอยู่ในวิถีแห่งคนพาลสันดานหยาบ หมกมุ่นอยู่กับกิเลสตัณหาและอุปาทานโดยคิดว่ามันคือความสุขจากการที่ได้เสพในสิ่งที่ตอบสนองเหล่านั้น…

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๑๓”

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๔๗

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๔๗…

…ธรรมชาติของมนุษย์ทั้งหลายนั้นต่างมีทิฏฐิมานะและอัตตาอยู่ในตัวชอบผลักภาระความผิดไปให้ผู้อื่นไม่ยอมรับความผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำไป มักอ้างว่า เพราะสิ่งนั้นเพราะสิ่งนี้ เพราะคนนั้น เพราะคนนี้มันจึงเป็นเช่นนี้ และเมื่อหาคนมารับผิดแทนตนไม่ได้ ก็ไปโทษสิ่งที่ไม่มีชีวิต สิ่งที่มองไม่เห็นตัวตนโทษสถานที่ โทษผีสาง เทวดาให้มารับผิดแทนตน คอยแต่จะโทษผู้อื่นและสิ่งอื่น ไม่ยอมที่จะมามองตนเอง เพื่อที่จะปรับปรุงและแก้ไขตนเอง

…มันจึงเกิดความวุ่นวาย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วมาจากกรรม คือการกระทำของตัวเราเองทั้งในอดีตและปัจจุบันทั้งที่จำได้และจำไม่ได้ ทุกอย่างล้วนมีเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นและสิ่งนี้ ขอเพียงให้เรามีสติระลึกรู้คิดทบทวนใคร่ครวญเราก็จะเห็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดของสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งทางดีและทางร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา…

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๔๗”

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๖๘

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๖๘…

…ฤดูกาลแห่งพรรษาผ่านล่วงเลยไปเกินครึ่งพรรษา รู้สึกธรรมดากับวันเวลาที่ผ่านไปเพราะว่าใจเรานั้นไม่ได้มีความกังวล ไม่เหมือนสมัยเมื่อแรกบวชนั้น เรายังทำใจไม่ได้ไม่เข้าใจธรรม ไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ พอถึงฤดูเข้าพรรษาใจเรามันเร้าร้อน มีความกังวลกับวันเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันนั่งนับวัน นับคืน ดูปฏิทิน อยากจะให้วันเวลานั้นผ่านไปให้ถึงวันออกพรรษาเร็ว ๆ เพื่อจะได้เดินทางท่องเทียวเปลี่ยนสถานที่ ไปแสวงหาครูบาอาจารย์ตามที่ต่าง ๆ …

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๖๘”