บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๒๐

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๒๐…

…บอกกล่าวกับผู้คนที่ได้สนทนาธรรมกันอยู่บ่อยครั้งว่า เรื่องราวเหตุการณ์ของแต่ละคนที่ได้ผ่านมานั้น มันเกิดจากกรรมที่ได้ทำมาจากอดีตชาติก็ดี ปัจจุบันชาตินี้ก็ดี ทุกอย่างนั้นมีเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิด

…ทุกย่างก้าวที่เราเดินผ่าน
นั้นคือตำนานของชีวิต
ที่เราได้ลิขิตขึ้นมาเอง
ไม่ใช่โชคชะตาหรือฟ้าลิขิต
ไม่ใช่นิมิตของสรวงสวรรค์
ไม่ใช่พระพรหมนั้นมาบันดาล
แต่สิ่งที่ชีวิตต้องพบพาน
นั้นล้วนแต่เกิดจากกรรม
ที่เคยกระทำผูกพันกันมา
จึงต้องมาประสพพบเจอ
มีทั้งกรรมที่เป็นอกุศล
อันส่งผลให้พบความทุกข์
หรือว่ากรรมที่เป็นกุศล
อันส่งผลให้ได้รับความสุข
ทุกเรื่องจึงสรุปลงที่กรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔…

กระแสธรรมแห่งกาลเวลา

…กระแสธรรมแห่งกาลเวลา…

…ธรรมารมณ์ (สิ่งที่ใจนึกคิด) นั้นเป็นของละเอียดอ่อน ไร้รูป ไร้รส ไร้กลิ่นไร้เสียง ไร้การสัมผัส เป็นนามธรรมที่จับต้องมิได้ เป็นสิ่งที่เกิดภายในมีใจเป็นตัวรับรู้และแผ่ออกมากระทบกับจิต ทำให้จิตแปรเปลี่ยนไป

…จิตของเราเหมือนภาชนะที่ว่างเปล่า เอาอะไรมาใส่ มันก็จะรองรับบรรจุสิ่งนั้นไว้ เป็นห้องว่างที่ใครผ่านมาก็เข้าไปพักได้ เราผู้เป็นเจ้าของห้องจึงต้องมีหน้าที่ ที่จะต้องคอยดูแลรักษาและป้องกัน มิให้สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายเข้ามาอยู่อาศัย

…โดยการพิจารณาแยกแยะกุศลและอกุศลที่จรมา รับไว้แต่สิ่งที่ดีมีสาระต่อการดำเนินชีวิตทางจิตของเราปฏิเสธสิ่งที่ไม่เป็นสาระไม่เกิดประโยชน์เป็นทุกข์เป็นภัยเป็นโทษ มิให้เข้ามาอยู่อาศัยในจิตเรา…

… “จิตแท้ จิตเดิมนั้น ประภัสสร (งดงาม บริสุทธิ์) แต่จิตนี้เศร้าหมองแล้วเพราะกิเลสที่เป็นอาคันตุกะได้จรมาอยู่อาศัย”…

อ่านเพิ่มเติม “กระแสธรรมแห่งกาลเวลา”

เด็กน้อย

…เด็กน้อย
บริสุทธิ์สดใสไร้เดียงสา
ไร้มายาเกิดมาในป่าใหญ่
วันเวลาแห่งชีวิตลิขิตไว้
ต้องเป็นไปตามกรรมที่ทำมา

…เด็กน้อย
เกิดบนดอยพบเห็นแต่ผืนป่า
บนดอยสูงห่างการพัฒนา
เป็นเด็กป่าเด็กดงของพงไพร

…เด็กน้อย
คงรอคอยวันเจ้าจะเติบใหญ่
วันเวลาแห่งชีวิตที่เปลี่ยนไป
มีอะไรมากมายให้พบเจอ

…เด็กน้อย
เจ้าเด็กดอยที่ฉันนำเสนอ
คือเด็กดอยที่ฉันนั้นได้เจอ
เก็บภาพเธอมาไว้ในความจำ

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต..
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕…

เมื่อจิตระลึกถึงธรรม

…เมื่อจิตระลึกถึงธรรม…

…การปฏิบัติธรรมนั้นคือการเจริญสติและการเจริญสัมปชัญญะเพื่อให้มีการระลึกรู้และมีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิตกับสิ่งที่คิด สิ่งที่ทำและสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยมีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครองจิตอยู่องค์แห่งคุณธรรมที่ว่านั้นคือ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาปคอยกระตุ้นเตือนจิตสำนึก ความรู้สึกผิดชอบและชั่วดีที่กำลังเกิดขึ้นในความคิด ในจิตของเรา ทำให้เราสามารถที่จะข่มใจไม่ให้คล้อยตามตัณหาความอยากที่เป็นอกุศลนั้นได้ ซึ่งต้องใช้การหมั่นฝึกฝนปฏิบัติเพื่อสร้างความเคยชินให้แก่จิต ในการคิดและการรู้เท่าทันซึ่งอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจิตของเรา…

อ่านเพิ่มเติม “เมื่อจิตระลึกถึงธรรม”

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๔๐

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๔๐…

” คนนั่งนิ่งเขาก็นินทา คนพูดมากเขาก็นินทา “
” นินฺทนฺติ ตุณฺหิมาสินํ นินฺทนฺติ พหุภาสินํ “
…พุทธสุภาษิต ธรรมบท ๒๕/๓๘…

…ชีวิตนี้ยังมีหนทางไป…

๐ ฟ้าครึ้มยามฝนพรำ
เมฆหมอกดำปกคลุมฟ้า
ม่านเมฆหมอกมายา
ปกคลุมฟ้าให้มืดมน

๐ เปรียบเป็นเช่นชีวิต
เมื่อความคิดเริ่มสับสน
จิตใจนั้นกังวล
จิตสับสนไร้หนทาง

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๔๐”

รำพึงกวีธรรมในยามเย็น

…รำพึงกวีธรรมในยามเย็น…

…ท่ามกลางผู้คนมากมาย แต่ก็คล้ายกับโดดเดี่ยว…

๐ รอนรอน ตะวันลับ
เสียงนกขับ กังวานมา
ใกล้ค่ำ สนธยา
หมู่วิหค บินกลับรัง

๐ เมฆน้อย ลอยเคว้งคว้าง
ลอยไปอย่าง คนสิ้นหวัง
สายลม มีพลัง
พัดพาเมฆ ท่องนภา

๐ ฟ้าครึ้ม เมื่อใกล้ค่ำ
ม่านเมฆดำ ปกคลุมฟ้า
ไม่นาน ฝนคงมา
ชุบชีวิต ให้พืชพันธุ์

๐ โดดเดี่ยว และเดียวดาย
ซุกซ่อนกาย ตามล่าฝัน
ผ่านคืน และผ่านวัน
แสวงหา บนเส้นทาง

๐ โดดเดี่ยว ไม่เปลี่ยวเหงา
อยู่บนเขา ไม่อ้างว้าง
เอาธรรม มานำทาง
สู่จุดหมาย บนทางเดิน

๐ มองโลก และมองธรรม
ก็สุขล้ำ ไม่มีเกิน
พาใจ ให้เพลิดเพลิน
จิตสงบ เมื่อพบธรรม

๐ เอาธรรม นำชีวิต
ปกป้องจิต มิใฝ่ต่ำ
กุศล บุญหนุนนำ
ให้ได้พบ เส้นทางดี

๐ ชีวิต ที่ผ่านมา
ได้เห็นค่า ชีวิตนี้
หลายหลาก และมากมี
สิ่งควรคิด กิจควรทำ

๐ ทางกาย และทางจิต
ทำชีวิต ให้เลิศล้ำ
ความชั่ว ไม่ครอบงำ
มีสติ คุ้มชีวี

๐ สร้างคุณ บุญกุศล
เป็นมงคล บารมี
ต่อเติม เสริมราศี
เจริญธรรม ตลอดไป

๐ รอนรอน ตะวันลับ
เพื่อพบกับ สิ่งแปลกใหม่
ชีวิต ดำเนินไป
บนเส้นทาง แห่งสายธรรม

๐ โดดเดี่ยว บนภูผา
ในเวลา ใกล้จะค่ำ
เมฆฝน ที่ครึ้มดำ
ก็พรั่งพรู ตกลงมา…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๕…

รำพึงธรรมกับธรรมชาติ

…รำพึงธรรมกับธรรมชาติ…

…สายลม สายน้ำ แสงแดดและขุนเขา…

…สายลม
โอบกอดเมฆหมอกบนฟ้า
เริงร่าเคลื่อนคล้อยลอยไหล
ใบไม้ต้องลมแกว่งไกว
เมฆน้อยลอยไหลไปมา
ท้องฟ้าเมื่อคราหลังฝน
ที่เคยหมองหม่นก็แจ่มใส
เมฆหมอกครึ้มดำก็เปลี่ยนไป
กลายเป็นเมฆใหม่นวลตา

…สายน้ำ
ไหลรินเรื่อยไปไม่ขาดสาย
หลังฝนสายน้ำก็กลับกลาย
จากที่เคยใสเป็นขุ่นแดง
ไหลแรงและสูงขึ้นกว่าเดิม
ฝนเติมกำลังให้กับสายน้ำ
สายน้ำเมื่อยามหลังฝน
ขุ่นข้นและไหลเชี่ยวแรง

…แสงแดด
สาดส่องผ่านม่านเมฆหมอก
บ่งบอกให้รู้ว่าฟ้าแจ่มใส
คือฟ้าหลังฝนที่เปลี่ยนไป
กลับมาแจ่มใสหลังมืดมน
ปลุกปลอบใจคนให้ตื่นฟื้นมา
ผีเสื้อ แมงปอเริงร่าออกโบยบิน
ไอกลิ่นของดินลอยโชยมา

… ขุนเขา
สงบนิ่งตั้งเด่นตระหง่าน
ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งกระทบ
แต่รับรู้ถึงการมาเยือน
ของสายลม สายน้ำ แสงแดด
เก็บเกี่ยวประโยชน์จากผู้มาเยือน
ยอมรับกับสภาพที่เป็นไป
ดูเหมือนเข้มแข็งแต่กลับอ่อนไหว

…สายลม สายน้ำ แสงแดด ขุนเขา
เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล
เป็นอย่างนั้นมานานและต่อไป
แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่ใจ
ขึ้นอยู่กับจิตและวิจารณญาณ
ความอยากและความต้องการ
ของแต่ละคนในเวลาขณะนั้น
ที่แตกต่างกันด้วยสติและคุณธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๕…

ระลึกถึงธรรมในยามรุ่งอรุณ

…ระลึกถึงธรรมในยามรุ่งอรุณ…

…หลายปีที่ผ่านมานั้น มีงานก่อสร้างต่อเนื่องกันหลายแห่ง จนไม่สามารถที่จะมีเวลาปลีกตัวเข้าป่าไปปลีกวิเวกเพราะต้องดูแลควบคุมเรื่องการก่อสร้างทั้งในเรื่องแบบก่อสร้างและเรื่องปัจจัยเงินทุนที่จะนำมาสร้าง ซึ่งมันอยู่กับเราทั้งหมด ทั้งการออกแบบ การเขียนแบบและหาทุนที่จะมาก่อสร้าง

…ทำให้ไม่สามารถที่จะทิ้งงานไปได้จึงต้องปรับเรื่องการปฏิบัติของตนเองเสียใหม่ ใช้การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรมโดยการเพิ่มกำลังสติให้มากขึ้นในการทำงานและต้องสรุปตนเองในทุก ๆ วันที่ผ่านไป ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ให้เป็นดินพอกหางหมู เพราะบางครั้งก่อนที่เราจะรู้ตัวระลึกได้ ในความประมาทหรือผิดพลาดของเรานั้น มันก็สะสมจนมีกำลังมาก ซึ่งทำให้ยากในการที่จะแก้ไขและต้องใช้ระยะเวลานาน ในการละลายพฤติกรรม ซึ่งมันจะทำให้เสียเวลา…

อ่านเพิ่มเติม “ระลึกถึงธรรมในยามรุ่งอรุณ”

ปรารภธรรมหลังตื่นนอน

…ปรารภธรรมหลังตื่นนอน…

“ คนฉลาดไม่ถูกเรื่อง ถึงจะพยายามทำ
ประโยชน์ ก็ไม่สัมฤทธิ์ผลให้เกิดสุข ”
“ น เว อนตฺถกุสเลน อตฺถจริยา สุขาวหา ”
…โพธิสัตว์สุภาษิต อารามทูสกชาดก ๒๗/๑๕…

…สมาธิที่ไม่มีศีลเป็นพื้นฐานนั้นมันจะขาดคุณธรรมคุ้มครองขาดซึ่งหิริและโอตตัปปะทำให้เกิดอัตตาและมานะทิฐิคือการหลงตัวเอง คิดว่าตนเองนั้นบริสุทธิ์กว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่นดีกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นการผิดทาง

…เพราะสมาธิที่เป็นพื้นฐานแห่งปัญญาในหลักของพระพุทธศาสนานั้นเป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อความจางคลายแห่งอัตตามานะเป็นไปเพื่อความลดละซึ่งมานะทิฐิทั้งหลาย เพื่อความจางคลายของอัตตา กิเลสตัณหาและอุปาทาน

…จึงต้องมาจากพื้นฐานแห่งศีลทั้งหลาย เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็น ” สัมมาสมาธิ ” ถูกต้องตามหลักของมรรค ๘…

… จิตที่ส่งออก เป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออก เป็นทุกข์… จิต เห็น จิต เป็นมรรค… ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ…

…ทุกข์…เท่านั้น เกิดมา พาหลงใหล
…สมุทัย…ที่กำเนิด เกิดทุกอย่าง
…นิโรธ…ธรรม นำไป ให้ถูกทาง
…มรรค…สรรค์สร้าง สัจจะ สู่พระธรรม
…เป็นของจริง จากสัจจะ อริยะ

องค์พุทธะ เลิศล้น ชนดื่มด่ำ
บอกโลกรู้ ดูให้เป็น จึงเห็นธรรม
เพื่อจะนำ หนึ่งชีวิต ไม่ผิดทาง…
…แด่ธรรมของพระพุทธองค์…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๕…

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๑๙

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๑๙…

…สรรพสิ่งย่อมแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย จิตที่ไม่ได้ฝึกให้ดีย่อมหวั่นไหวไปตามกระแสของโลกที่แปรเปลี่ยนไปทุกขณะ

…แต่จิตที่ฝึกฝนไว้ดีแล้วนั้น ย่อมไม่หวั่นไหวไปตามกระแสแห่งโลกธรรมในความเคลื่อนไหว จิตนั้นไม่หวั่นไหวเพราะว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่อาศัยมีธรรมเป็นเกราะคุ้มกันภัยจากกระแสแห่งโลกธรรมทั้งหลาย…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม…
…๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔…